เกิดเหตุ ของ คดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์กบฏวังหลวงยุติลงในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ฝ่ายกบฏได้ยอมแพ้และแยกย้ายกันหลบหนี ทางรัฐบาลก็ยังได้ส่งตำรวจติดตามและสังหารอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น พันตรีโผน อินทรทัต ถูกกระสุนปืนยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าผาก ศพอยู่ที่พบที่อำเภอดุสิต ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์, พันตำรวจเอกบรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตผู้บังคับการตำรวจสันติบาลก็ถูกยิงเสียชีวิตหลังจากถูกจับกุม ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เป็นต้น

1 มีนาคม หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงพาดหัวแถลงการณ์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าได้มีกลุ่มบุคคลก่อการหวังจะยึดอำนาจการปกครองกลับคืนหลังจากการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ทำการยึดพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเปิดเผยชื่อหัวหน้าขบวนการคือ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี

ทางการได้ออกประกาศตามจับและให้สินบนนำจับ โดยลดหลั่นกันลงไป เช่น นายปรีดี หัวหน้าขบวนการมีรางวัลนำจับ 50,000 บาท, พลเรือตรีสังวรณ์ สุวรรณชีพ รองหัวหน้า รางวัลนำจับ 30,000 บาท เป็นต้น

สำหรับบุคคลทั้ง 4 ที่เสียชีวิต ประกอบไปด้วย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี พรรคสหชีพ และเป็นอดีตรัฐมนตรีถึง 6 สมัย, นายถวิล อุดล อดีต ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเดียวกัน เป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ, นายจำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม พรรคเดียวกัน ถูกจับกุมตัวพร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ในสถานที่ที่ต่างกันออกไป เช่น นายถวิลถูกจับที่สโมสรราชนาวี เป็นต้น และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ อดีต ส.ส.จังหวัดปราจีนบุรี และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ถูกจับในวันที่ 1 มีนาคม ที่สนามบินดอนเมือง โดยตำรวจส่งโทรเลขเป็นรหัสไปลวงว่าการปฏิวัติสำเร็จแล้วให้รีบกลับมา เพราะ ดร.ทองเปลวได้หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งบุคคลทั้ง 4 นี้ ล้วนแต่เป็นนักการเมืองสายของนายปรีดี และ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทั้งสิ้น และไม่มีชื่อในประกาศจับของทางการ ทั้งนี้ได้มีการเปิดเผยภายหลังว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นฝ่ายริเริ่มก่อการหรือเป็นแกนนำ แต่ถูกวางตัวให้เป็นผู้ร่างกฎหมายและประกาศฉบับต่าง ๆ หากการปฏิวัติสำเร็จ

ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่นั้น บรรดาญาติของผู้ต้องหาไม่ได้มีความระแวงว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านั้นบุคคลทั้ง 4 ก็ได้เข้า ๆ ออก ๆ เรือนจำเป็นประจำอยู่แล้วในข้อหาทางการเมืองต่าง ๆ โดยติดอยู่หนึ่งเดือนบ้าง 2 เดือนบ้างก็ถูกปล่อยตัวออกมาพบครอบครัว ซึ่งการถูกจับกุมในครั้งนี้ผู้ต้องหาไม่ได้รับการให้ประกันตัว

พันตำรวจเอก หลวงพิชิตธุรการ (ยศขณะนั้น) ผู้ควบคุมการขนย้าย 4 ผู้ต้องหาพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์สยามนิกร ในปี พ.ศ. 2500

ค่ำวันที่ 3 มีนาคม ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้งหมดไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหมายเลขทะเบียน กท. 10371 โดยมี พันตำรวจเอก หลวงพิชิตธุรการ เป็นผู้ควบคุม โดยรับ ดร.ทองเปลว ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน นายจำลองที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา นายถวิลที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และนายทองอินทร์ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน เวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนร่างละไม่ต่ำกว่า 10 นัด ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่ โดยได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง ต่อมาตำรวจแถลงว่า ในที่เกิดเหตุกลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และได้มีการปะทะกับตำรวจ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย

ญาติของผู้ต้องหากว่าจะทราบเรื่องการเสียชีวิต ก็เมื่อได้ไปเยี่ยมที่สถานีตำรวจเดิมที่คุมขังแล้วไม่พบตัว ต้องไปตามหาตามที่ต่าง ๆ เช่น วังปารุสกวัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับคำบอกต่อให้ไปดูที่โรงพยาบาลกลาง จึงได้ทราบเรื่อง

ศพของทั้งหมดอยู่ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฏกษัตริยาราม กระนั้นในงานศพก็ยังมีตำรวจสายสืบและสันติบาลมาติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมงานศพอยู่เสมอ

จากความผิดปกติในครั้งนี้ ทำให้สังคมโดยทั่วไปไม่เชื่อว่าทั้งหมดเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนของโจรมลายูจริง แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำของตำรวจเอง ภายใต้การบัญชาการของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการปราบกบฏและมีตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการฆาตกรรมนักการเมืองและบุคคลฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงข้ามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เช่น นายเตียง ศิริขันธ์, นายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์, นายอารีย์ ลีวีระ เป็นต้น

ใกล้เคียง

คดีฆ่าคนที่เกาะเต่า คดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492 คดีฆาตกรรมครั้งที่ 3 แห่งโรงละครโอเปร่า คดีฆาตกรรมหมู่บ้านอาถรรพ์ คดีฆาตกรรมแห่งเมืองปริศนา คดีฆาตกรรม ตระกูลอินุงามิ คดีฆาตกรรมไพ่ปริศนา คดีฆาตกรรมนัยน์ตามรณะ